วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตัวของตัวเอย



     ได้เป็นใครก็หาไม่สุขใจเท่า  
ได้เป็นตัวของเราที่เฝ้าหา
ออกก้าวเดินเผชิญสมุทรสุดหล้าฟ้า
เพื่อค้นหาอัตตาที่ข้าเป็น

     แต่เยาว์วัยข้าเป็นใครใช่รู้อยู่
เพราะข้ารู้อยู่ว่าเป็นข้าจึงเล่น
แต่โตมาโชคชะตาข้าลำเค็ญ 
ที่เคยเป็นมองไม่เห็นเร้นเลือนลาง

     บั้นปลายเยาว์เจ้าต้องเรียนเพียรหน้าที่          
เป็นหนทางเลี้ยงชีวีรีบรี่สร้าง
เล่าเรียนรู้ตั้งตนอยู่ในลู่ทาง  
ส่องสวางภายภาคหลังพรั่งพร้อมพูน

     เสร็จศึกษาทำสัมมาอาชีพชอบ  
อยู่ในกรอบอย่าเฟือนฟั่นครั่นหันหุน
ถึงไม่ชอบในอาชีพอย่าอาดูร 
จักเกื้อกูลทุนเงินทองสนองตน

      หลักประกันมั่นใจว่าอยู่ได้  
อยู่สบายไม่เดือดร้อนค่อนขัดสน
ภาระยิ่งหลายสิ่งวิ่งเปรอปรน 
ลืมตัวตนที่เคยเขาเราเคยเป็น

     ถึงเวลาที่ข้าจะเยื้องย่าง
ออกเดินทางกร่างผจญทนทุกข์เข็ญ
เดินดั้นด้นค้นหาข้าที่เคยเป็น
ที่เคยเห็นที่เคยเล่นเป็นเราเอย

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระเอกMV syndrome: The Impact of Imitation on Teenagers' Behavior Toward Sad Songs


หัวข้อนี้ได้มาจากเพื่อนในเฟสบุ๊คครับ  พอดีเขาทำการบ้านอยู่แล้วก็ลองถามผมว่ามีความคิดเห็นยังไงบ้างเกี่ยวกับหัวข้อนี้  The Impact of Imitation on Teenagers' Behavior Toward Sad Songs ผมต้องถามกลับไปก่อนเลยว่า "มันแปลว่าอะไรเหรอ" ฮ่าๆ  จริงๆครับ ถ้าแปลไม่ออกก็คิดอะไรไม่เข้าเหมือนกัน  เขาก็ตอบกลับมาว่า "ผลกระทบของเพลงเศร้าที่มีต่อนิสัยของวัยรุ่น"  อ้า... แบบนี้ค่อยรู้เรื่องค่อยคิดอะไรออกหน่อย  แต่กว่าจะเอาชนะความขี้เกียจมาเขียนได้ก็ปาเข้าไปเกือบอาทิตย์แล้ว  ไม่รู้ว่าความคิดเห็นของผมจะทันได้เป็นประโยชน์ต่อการบ้านของเขาหรือเปล่า  ขอโทษด้วยนะครับเพื่อนตนกล้า เอาเป็นว่าอ่านเอาม่วนแล้วกันน่อ

สำหรับเพลงไทยในปัจจุบัน  ถ้าลองสังเกตดูแล้วประเมินด้วยสามัญสำนึก  ผมคิดว่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ90 ที่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการไม่สมหวังในความรัก  เอ คนเรานี่ก็แปลกเนาะ!  เพลงม่วนๆ ชวนรื่นเริงไม่ค่อยนิยมกัน  กลับชมชอบเพลงที่ทำร้ายซ้ำเติมหัวใจกันจริงๆ   เวลาอกหักมาก็ต้องหาเพลงแนวอกหักฟัง  เพลงไหนฟังแล้วเนื้อเพลงคล้ายสิ่งที่ตัวเองเจอก็จะบอกว่า "ใช่เลย!  โดนว่ะ!"  ฟังแล้วอยากร้องไห้ แต่ก็ฟังแล้วฟังอีก  บางคนฟังจนไม่รู้จะร้องไห้ยังไงแล้วเลยฆ่าตัวตายแม่มันสะเลย   ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่วัยรุ่นฆ่าตัวตายกันน่ะ ส่วนหนึ่งมาจากเพลงเศร้านะรู้มั้ย แต่ผมไม่ได้โทษคนแต่งเพลงหรือร้องเพลงหรอกนะครับว่าเป็นต้นเหตุให้วัยรุ่นฆ่าตัวตาย  เขาก็แค่สร้างงานที่ตอบสนองอารมณ์บางมุมของคนเรา  อยู่ที่ว่าใครจะเอาไปตอบสนองอีท่าไหนต่างหาก  แต่เรื่องฆ่าตัวตายเพราะเพลงเศร้านั้นผมไม่ขอกล่าวถึงมาก  เพราะไม่มีข้อมูลเชิงสถิติหรือประสบการณ์ใดๆ  แค่เกริ่นเป็นน้ำจิ้มเท่านั้น  ที่เป็นไฮไลท์จริงๆที่ผมอยากกล่าวถึงเลยก็คือ  พระเอกMV syndrome

เมื่อห่างจากรบ คนเราก็หันมารักกันมากขึ้น  แต่ทว่าการรักของวัยรุ่นสมัยนี้กลับพิศดารมากขึ้น  รักแบบยอมเป็นฝ่ายเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น!  ผู้ชายบางคนแอบปิ๊งสาวคนหนึ่ง  แต่ไม่กล้าทำอะไรกลัวเธอรู้  "เราแค่รักเธอแบบห่างๆอย่างนี้  ก็มีความสุขแล้ว"  ประโยคนี้ทำให้นึกถึงMV เพลงที่ทำออกมาเกลื่อนตลาดขึ้นมาทันทีเลย  โอเคอาจจะปลอบใจตัวเองได้ว่าแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว  แต่ถ้าลึกๆล่ะรู้สึกอย่างไร  ผมมั่นใจว่ามันต้องมีเจ็บจึ้กๆอยู่เป็นแน่  ยอมเจ็บอย่างห่างๆแล้วปลอบใจตัวเองว่ามีความสุข แทนที่จะเข้าไปจีบ เข้าไปทำความรู้จักแบบเป็นธรรมชาติ  คงเป็นพฤติกรรมของโรค พระเอกMVsyndrome  แล้วพฤติกรรมของโรคนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ  มักจะทำดีกับผู้หญิงที่ตัวเองรักแบบว่าดียิ่งกว่าเคยทำให้กับแม่ของตัวเองเป็นไหนๆ   กระเป๋าเธอถือเองได้ก็จะแย่งถือ  ประตูที่ขวางหน้าเธอทุกบานก็จะแย่งเธอเปิดให้หมด  เธออยู่ที่ไหนก็พร้อมจะอยู่ที่นั่นกับเธอตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงกับอีกสามสิบนาที(แล้วแม่เอ็งไปไหนแล้วล่ะ บักหำ!)   แล้วผู้ชายกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นฝ่ายอกหักถูกผู้หญิงทิ้ง  ในที่สุดก็ได้เป็นพระเอกMV สมใจ  แต่อย่าลืมนะครับ ว่าพระเอกในMVน่ะ  เขาอกหักแบบได้สตังค์ ดูดีและมีผู้ชมผู้ฟังทางบ้านคอยเห็นใจอีกเป็นหมื่นเป็นแสน  แต่พระเอกMV ในชีวิตจริงอย่างพวกคุณน่ะ  ไม่มีใครเขาสนใจเท่าไหร่หรอก  เขาก็เห็นคุณเป็นหนึ่งในคนป่วยโรค พระเอกMV syndrome เหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ  และถ้าผ่านชีวิตช่วงนี้จนกลายเป็นผู้ใหญ่  โดยมากโรคนี้จะหายไปเองตามประสบการณ์ชีวิต    แต่สำหรับบางคนอาจจะยังเป็นอยู่ตลอดชีวิตก็ได้

MV เพลงเศร้าที่เห็นได้จนเกร่อในสมัยนี้ผมว่ามันเป็นเหมือน Protocol ที่ฝังลึกเข้าไปในจิตใต้สำนึกของวัยรุ่นหลายคน  คอยกำหนดฤติกรรมที่จะแสดงออกเวลาเกิดความรู้สึกชอบในเพศตรงข้าม  และในจิตใต้สำนึกนั้นก็โหยหาการผิดหวังในความรักโดยไม่รู้ตัว   รักเธอเท่าฟ้า รักตัวเองเท่าขนหมา  จะเห็นได้ว่าผมยกตัวอย่างผู้ชายเป็นส่วนใหญ่  เพราะผมเป็นผู้ชาย และเคยเห็นผู้ชายกลุ่มที่เป็นโรค พระเอกMV syndrome มาหลายคน  สำหรับ นางเอกMV syndrome ก็อาจจะมีบ้างนะ  แต่คงไม่เยอะเท่า พระเอกSyndrome

ท้ายนี้ผมอยากจะฝากไว้ว่า พระเอกMVน่ะปล่อยมันเศร้าไปเถอะ  สำหรับพระเอกในชีวิตจริงอย่างพวกเราน่ะ  เราเลือกได้ว่าจะมีความสุข   เราไม่ต้องมาคอยอ้อนง้อขอความรักแบบพระเอกMVหรอก พระเอกอย่างเราน่ะ ต้องฝ่ายรักตัวเองให้มากๆแล้วเผื่อแผ่ความรักไปยังเธอคนที่เราคิดว่าใช่   จริงไหมล่ะครับ

แต่ท้ายที่สุด อย่าลืมแม่ของตัวเองนะ ( บักหำ!!)

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กรอบความคิด



สังคมสมัยใหม่แห่งยุคโลกาภิวัฒน์  เด็กรุ่นใหม่เชื่อผู้ใหญ่น้อยลงและเชื่อตัวเองมากขึ้น   แทนที่จะปรึกษาคนรอบข้างก็ปรึกษาอินเตอร์เน็ตแทน   การติดต่อสื่อสารทั้งข้อความ ภาพ เสียง ที่ไร้พรมแดนภายในเสี้ยววินาที ก่อให้เกิดการไหลบ่าของกระแสวัฒนธรรม วัฒนธรรมและค่านิยมตะวันตกเริ่มเข้ามาผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมไทย(แทบจะเขมือบกลืน)  จึงไม่แปลกที่เด็กสมัยนี้จะแหกคอกมากขึ้น  การแหกคอกที่ว่าส่วนใหญ่จะไม่ก้าวร้าวแบบใช้กำลัง  แต่จะแข็งกร้าวด้วยเหตุผล  เหตุผลที่สวนออกไปทำลายเหตุผลที่อ่อนกว่าของระบบเดิมๆที่ยึดถือกันมาแต่เดิม ระบบที่คนรุ่นก่อนสร้างขึ้นเพื่อเป็นกุศโลบายในการอบรมคนรุ่นหลัง  เริ่มถูกเหตุผลและความเป็นตัวของตัวเองของคนรุ่นใหม่กัดเซาะ จนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบบเดิมไป หรือไม่ก็ยกเลิกบางระบบไปเลย ยกตัวอย่างเช่นระบบSotus ที่เมื่อก่อนเป็นที่นิยมในมหาวิทยาลัย  แต่ปัจจุบันนั้นแผ่วกำลังลงเต็มที    

"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"  เป็นคำกล่าวยอดฮิตของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง ไอสไตน์  คำกล่าวนี้เป็นจริงหรือไม่ก็สังเกตได้จากเทคโนโลยีในปัจจุบันที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา   ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากจินตนาการแทบทั้งนั้น  สิ่งใหม่ๆจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเริ่มต้นจากความกล้าที่จะคิดให้ต่างจากรูปแบบเดิมหรือที่เรียกว่า "คิดนอกกรอบ"  ซึ่งหลายองค์กรการทำงาน(ยกเว้นระบบราชการ) ต้องการบุคลากรที่มีคุณสมบัตินี้   "คิดนอกกรอบ"เป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์  เป็นหนทางออกใหม่ๆของปัญหาเดิม  เป็นอะไรที่เท่ๆที่คนรุ่นใหม่หลายคนสรรเสริญ จนนำไปสู่อะไรพิเรนทร์ๆหลายอย่างของวัยรุ่น  ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำว่า "คิดนอกกรอบ" อย่างถ่องแท้เสียเท่าไหร่

แต่ในความคิดของผมนั้น  ผมมองว่าถึงแม้บางความคิดจะมองว่าเป็นความคิดนอกกรอบ  แต่มันก็ยังมีกรอบอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่ามาล้อมความคิดนั้นอยู่  ผมเห็นได้จากประสบการณ์การเป็นนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์  ซึ่งในบางคาบเรียนอาจารย์ผู้สอนจะนำตัวอย่างเคสของคนไข้มาให้นักศึกษาวิเคราะห์    นักศึกษาต้องวิเคราะห์หาสาเหตุการป่วยแล้วจึงกำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสม  มันเป็นอะไรที่ให้ความรู้สึกท้าทายเหมือนกำลังอ่านนิยายสืบสวนไขคดี  นักศึกษาบางคนเสนอความคิดเห็นที่เพื่อนคนอื่นๆหรือแม้แต่อาจารย์เองก็ยังคิดไม่ถึง แล้วก็ชวนให้ขบคิดต่อ   แต่ในขณะที่นักศึกษาบางคน (ผมเองครับ)ที่เสนอแนวความคิดที่คนอื่นๆไม่ได้คิดถึง   ความคิดดังกล่าวนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย เนื่องจากมันนอกกรอบเกินไป  นอกกรอบวิชาการไปจนกลายเป็นแค่ความคิดแผลงๆ  ที่เป็นเช่นนี้เพราะตอนเรียนผมนั่งสัปหงกเป็นส่วนใหญ่  ทำให้ตามไม่ทันกรอบความคิดทางวิชาการซึ่งคอยกำกับไม่ให้ความคิดของนักศึกษาออกทะเลไปจนไร้ความหมาย


"คิดนอกกรอบ" เป็นสิ่งที่ดี แต่ กรอบความคิดก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์    ความคิดนอกรอบ จะเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ได้ ก็ต้องอยู่ในกรอบของการนำไปใช้ได้จริง  ความคิดนอกกรอบจะเป็นความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดเพ้อฝัน ก็แบ่งกันที่กรอบความคิดนี่แหละครับ    

สส. = สับสนในหน้าที่

สส. = สับสนในหน้าที่


สมาชิกสภา ผู้แทน ราษฎร                       ประชากรชาวไทยไปเลือกตั้ง
เข้าคูหากากบาทด้วยมุ่งหวัง                     ให้พวกท่านสานพลังสร้างชาติไทย

เจียดรายได้จ่ายภาษีไม่มีขาด                     เงินทุกบาทเข้างบชาติหาขาดไม่
งบประมาณบริหารบ้านเมืองไทย                งบรายจ่ายบริหารบ้านเมืองเรา

หลายโครงการสัมปทานต้องการงบ            โครงการจบครบหลายปีมีแต่เสา
ยี่สิบปีที่โฮปเวลเตือนใจเรา                       งบรายจ่ายไหลเข้ากระเป๋าคน

รัฐบาลควรประสานกับฝ่ายค้าน           บริหารและวิจารณ์สมเหตุผล
มิใช่หมายว่าอีกฝ่ายศัตรูตน                      มุ่งกำจัดเพราะขัดผลประโยชน์ตัว

แบ่งพรรคสมัครพวกจวกอีกฝ่าย                 มุ่งทำลายให้ร้ายไม่เห็นหัว
ระหว่างนั้นงบประมาณโกยเข้าตัว               มอมเมามัวไม่เห็นหัวชาติไทย

รบกวนท่านทบทวนถึงหน้าที่                     อันภาระที่ท่านมีมาแต่ไหน

ผลประโยชน์อาจทำท่านลืมเลือนไป           หน้าที่ท่านสรรค์สร้างไทยอย่าได้ลืม

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Man of steel บุรุษเหล็กสองโลก


 
สำหรับภาพยนตร์ภาพยนตร์ที่กำลังพูดถึงกันมาในช่วงนี้ คงจะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจาก Man of steel ที่ได้เจ้าของผลงานภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ที่เปี่ยมคุณภาพอย่าง The Dark knight มานั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์และคนเขียนบท อีกทั้งยังได้ Zack Snider เจ้าของผลงานแอคชั่นสุดมันส์อย่าง 300 มารับหน้าที่เป็นผู้กำกับ  รวมถึงตัวอย่างภาพยนตร์ที่เผยให้เห็นว่าฉากในภาพยนตร์นั้นตระการตาแค่ไหน

Man of Steel จะเล่าถึงความเป็นมาของซุปเปอร์แมนตั้งแต่ประวัติดวงดาวบ้านเกิด  เมื่อดาวคริปตอนใกล้จะถึงจุดจบ  นายพลซ็อคก็ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากสภาสูงสุด   จอร์ เอล กับภรรยาของเขาได้ส่ง คาร์ล เอลบุตรชายแรกเกิดมายังโลกมนุษย์ด้วยเหตุผลบางประการ    ในโลกมนุษย์เขาคือ คลาร์ก เคนท์ ผู้ที่พยายามจะทำตัวให้กลมกลืนกับมนุษย์ของคนอื่น     เพราะพ่อบุญธรรมของเขาเชื่อว่าในตอนนี้โลกมนุษย์ยังไม่พร้อมจะรู้จักตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขา   จนกระทั่งวันหนึ่ง  นายพลซ็อคก็ได้ตามรอยมาจนพบว่าคาร์ล เอล อยู่โลกมนุษย์    จึงยื่นข้อเสนอกับชาวโลกว่าให้ส่งมอบตัว คาร์ล เอล มา   โดยมีชะตาของโลกเป็นเดิมพัน

หนังทำฉากออกมาได้อย่างตระการตามาก   ดูฉากระเบิด ฉากตึกถล่มจนเต็มอิ่มเลยทีเดียว    อีกทั้งเพลงประกอบก็ฟังดูยิ่งใหญ่เร้าใจ  ในความเห็นของผม ผมคิดว่า Man of Steel คือหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่ที่อลังการที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมา  ต่อให้ค่าตั๋ว 350 บาทก็คุ้มครับสำหรับการรับชมความสะใจ ยิ่งใหญ่ อลังการ   ซุปเปอร์ในภาคนี้จะมีกลิ่นอายออกไปในทางหม่นๆอยู่บ้าง  ตามสไตล์ผู้กำกับอย่าง Zack Snider  แต่ทว่าตัวหนังจะเน้นความแอคชั่นมากขึ้น  เนื้อหาจะไม่หนักเหมือน The Dark knight หรือ The Watchmen  แต่ก็ยังแฝงข้อคิดและสะท้อนอะไรหลายๆอย่าง(ยังมีสาระอยู่เหมือนกัน) เป็นภาพยนตร์ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัยครับ

แต่ถึงฉากแอคชั่นจะตระการตาสะใจอย่างไร  ผมว่าตัวหนังมันก็ยังขาดอะไรไปอยู่ดีครับ  การตัดฉากไปมาอย่างปุบปับในตอนแรกทำให้รู้สึกไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมเท่าไหร่  ฉากที่ซุปเปอร์แมนช่วยเหลือคนอื่น (ซึ่งมีน้อยมาก) ดูแล้วก็รู้สึกเฉยๆ  เทียบกับฉาก Spiderman ช่วยคนบนรถไฟไม่ได้เลย  ซุปเปอร์แมนในภาคนี้ไม่ค่อยให้ความรู้สึกว่าเหมือนฮีโร่เท่าไหร่  แต่ก็เป็นข้อดีที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมที่สมจริงของซุปเปอร์แมนมากขึ้น   ฉากต่อสู้ก็ดูยืดเยื้อเกินไปหน่อย  ต่อยกันจนบ้านเมืองพินาศวอดวายแต่ไม่ยักกะตายกันซักที  ทำให้เกิดคำถามว่าจะสู้กันไปทำไม  ด้วยฉากตระการตาที่มีมากเกินไปจึงทำทำให้ดูเกร่อ   สู้ออกมาเด็ดๆไม่กี่ฉากแบบหมัดเดียวน็อคผมว่าจะน่าประทับใจกว่า    ซึ่งถ้าหากเทียบกับ The Avenger  แล้ว เรื่องนี้อลังการกว่า  แต่ความสนุกยังเป็นรอง The Avenger
 

 แต่อย่างไรก็แนะนำให้ไปดูครับ  รับรองคุ้มค่าตั๋ว กับเวลา 143 นาที 

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

After earth สยองโลกร้างปี... หนทางแห่งการพรางความกลัว อยู่บนปัจจุบัน


ด้วยดาราแม่เหล็กดึงดูดผู้ชมอย่าง Will Smith( MIB, Hancock, The Legend)  ซึ่งเล่นคู่กับ Jaiden Smith  (จากเรื่อง Karate kid , Pursuit of Happiness) ซึ่งในเรื่องก็รับบทเป็นพ่อลูกกันอีกด้วย   อีกทั้งยังรวมถึงฉากต่างๆที่ดูตระการตาในตัวอย่างหนัง  ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นที่น่าจับตามองเลยทีเดียว  แต่จะติดที่หนึ่งก็ตรงชื่อผู้กำกับคือ  M. Night Shayamalan (the sixth sense, the village) ซึ่งทำผมผิดหวังมากับเรื่อง The last air binder  ซึ่งเป็นแนวแฟนตาซีฉากตระการตาเหมือนกัน   แต่ก็ไม่แน่ว่าหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นหนังแก้มือสำหรับผู้กำกับท่านนี้ก็ได้
หนังบอกเล่าเรื่องราวของ ไซเฟอร์ เรจ (Will Smith)  เรนเจอร์ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากวีรกรรมที่ไร้ความกลัวของเขา  ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ  คีไท (Jaiden Smith) ผู้เป็นลูกชายกลับไม่ค่อยแข็งแรง   วันหนึ่ง เรจ จึงตัดสินใจพาลูกชายของเขาร่วมเดินทางไปด้วยกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์   แต่แล้วระหว่างทางยานอวกาศประสบอุบัติเหตุ  ร่วงลงสู่ดาวดวงหนึ่งซึ่งถูกจัดว่าเป็นดาวต้องห้าม   มีเพียงสองพ่อลูกที่รอดชีวิต และจำเป็นต้องใช้เครื่องยิงสัญญาณขอความช่วยเหลือที่อยู่ในส่วนท้ายของยาน  ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวร้อยกิโลเมตร  จากอุบัติเหตุในครั้งนี้  ไซเฟอร์ เรจ บาดเจ็บหนัก  จึงต้องฝากความหวังไว้กับ คีไท  ในการผจญภัยกับธรรมชาติที่แปรปรวน  และเหล่าบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารถคร่าชีวิตมนุษย์   บนดาวดวงนี้ที่มีชื่อว่า "โลก"
ประการแรกผมขอชมเรื่องภาพและกราฟฟิกครับ  ทำออกมาได้สวยดี ถึงแม้สัตว์บางตัวจะดูออกว่าเป็นคอมพิวเตอร์แต่ก็ชดเชยด้วยความสวยงาม  โลเคชั่นที่ถ่ายทำนั้นเลือกได้ดีมาก  ไม่ว่าจะเป็นในป่า  กลางหิมะ  หน้าผา หรือน้ำตก  แล้วเรื่องรายละเอียดเล็กๆน้อยที่มีความเป็นไซไฟ  ผู้สร้างก็ให้ความสนใจกับมันดี  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปริมาณออกซิเจน  แรงโน้มถ่วง  อุปกรณ์กล้องวงจรปิดล้ำสมัย  ส่งผลให้เติมเต็มอรรถรสได้ไม่น้อยเลยทีเดียว   นักแสดงทำหน้าที่ได้ดีมาก  โดยเฉพาะ Jaiden Smith  ที่เรื่องนี้ได้วาดลวดลายบทบาทเข้มข้นกว่าเรื่อง คาราเต้ คิด มาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พอผมดูไปได้กลางๆเรื่องแล้วผมรู้สึกง่วงเหมือนกัน  ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เรื่องดูไม่เงียบเหงาหากว่าตัวละครหลักของเรื่องมีอยู่แค่สองคน(หลักจริงๆคนเดียว) ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตระการตามระหว่างทางร้อยกิโลเมตร  และอุปสรรคระหว่างทางก็ดูไม่ท้าทายเท่าไหร่  สัตว์ที่พบเจอมันก็คือสัตว์โลกธรรมดา  ซึ่งดูไม่น่าพอที่จะตีตราว่าเป็นดาวต้องห้าม เพราะดูแล้วมันก็ไม่ได้อันตรายสักเท่าไหร่  ยกเว้นก็แค่สัตว์ประหลาดตัวที่ติดมากับยานตั้งแต่เริ่มต้น

แต่ผมชอบแนวคิดที่สอดแทรกเข้ามาในเรื่อง  เฮียมาโนช(ชื่อจริงผู้กำกับ) แก่เล่นใส่ปรัชญาแบบพุทธจ๋าเข้ามาแบบเต็มสตรีมเลย  ความกลัวเกิดจากจิตปรุงแต่ง  เราสามารถเอาชนะความกลัวได้หากเราอยู่กับปัจจุบัน  ในขณะนั้นเราเลือกได้เสมอว่าจะกลัวหรือไม่  หรือจะทำอะไร   แล้วสุดท้ายเมื่อเราเข้าใจจุดนี้  สัตว์ประหลาด ก็จะมองไม่เห็นเราอีกต่อไป   หนังเรื่องนี้สำหรับผมแล้วใช้ได้ครับ  แต่ไม่แนะนำให้คาดหวังมากแล้วกัน  ดูโรงเจ็ดแต่คนมีค่อนข้างน้อย  ถ้าเทียบเรื่องนี้กับ Oblivion  ผมว่าหนังเฮียครูซ เหนือชั้นกว่าเยอะครับ