วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

...เรายังก้าวไปข้างหน้าอยู่หรือเปล่า…



“ไอ้วิน เมื่อก่อนเอ็งยังมีแววเข้าท่ากว่านี้ มีความคิดมากกว่านี้ แต่พอโตขึ้นแล้วกลับโหลยโท่ยลง” คำพูดของพ่อช่วยดึงจิตใจผมจากที่คิดว่าเดี๋ยวจะทำโน่นเล่นนี่ให้กลับมาคิดเรื่องที่พ่อพูด คือเรื่องตัวผมในตอนนี้กับตัวผมในตอนนั้น แน่นอนผมยังชื่อ ภูริ นามสกุล พุ่มไพศาลชัยเหมือนเดิม(ระหว่างนี้ก็ไม่มีใครมาขอใช้นามสกุลผม) หน้าตายังเหมือนเดิมถึงแม้จะดูมีอายุขึ้นมาบ้าง โดยรวมแล้วภายนอกยังเป็นคนเดิมอยู่
แต่ภายใน ผมรู้สึกว่าเราเป็นคนละคนกัน
ผมหลงรักการเขียนตั้งแต่อายุ 14 เริ่มจากการเขียนเรื่องสั้นๆเอามันส์ให้เพื่อนในห้องอ่านกันเล่นๆ จากนั้นปณิธานของผมก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผมเริ่มอยากเป็นหนังเขียนชื่อดังที่ผลงานถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ จากนั้นเป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานไว้มากที่สุดในโลก แม้แต่คนรุ่นหลังยังต้องศึกษางานเขียนบางชิ้นของผม จนกระทั่งก่อนผมเรียนจบม.ปลาย ผมตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ด้วยงานเขียนของผม ให้เป็นโลกที่มีแต่สันติภาพและรอยยิ้ม รายได้ที่ได้จากงานเขียนก็จะเอาไปบริจาคซะเกือบหมด ตัวเองก็ใช้ชีวิตในแบบที่ใช้เงินน้อยที่สุด และจะเป็นโสดไปตลอดชีวิตเพื่อจะได้นำเวลาทั้งหมดไปทุ่มเทให้กับการสรรค์สร้างงานเขียน
ช่วงนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองมีความคิดที่ลุ่มลึกแต่ทว่าคับแคบเนื่องจากขาดประสบการณ์ชีวิตหลายด้าน โดยเฉพาะงานเขียนช่วงที่เขียนถึงความรักและผู้หญิงผมรู้สึกว่าข้างในผมกลวงเปล่า จนกระทั่งได้เข้ามาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย จากเมื่อก่อนที่มักเก็บตัวก็เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำความรู้จักกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา แรกๆแค่หาประสบการณ์ พอนานวันเข้าผมก็เริ่มหันไปหมกมุ่นกับการทำให้ผู้หญิงมาชอบ การเขียนของผมถูกทิ้งร้างห่างไป ถึงอย่างนั้นผมก็ยังมีข้ออ้างให้กับตัวเองว่า “หาประสบการณ์ชีวิตเว้ยเฮ้ย! เอาไปใส่งานเขียน” ซึ่งช่วงนี้ผมเริ่มหันไปหลงรักการแต่งเพลงจากการที่ได้ลองแต่งเพลงให้ผู้หญิง หลังจากนั้นไม่นานผมก็หลงรักการร้องเพลงอย่างหัวปักหัวปำ เสียงรอบข้างและเสียงจากภายในของตัวเองที่คอยย้ำว่า ผมไม่มีพรสวรรค์ ไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่กวนใจผมที่สุดก็คือคำถามจากในก้นบึ้งหัวใจของผมที่ถามว่า
“แน่ใจหรือว่ารักและอยากอุทิศชีวิตให้กับสิ่งนี้จริง”
ตามหลักเหตุผล ผู้ที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมานานกว่าควรจะมีความชำนาญมากกว่าเป็นเงาตามตัว เช่น คนขับรถที่มีอายุควรมีประสบการณ์มากกว่าคนขับหนุ่มๆ ชีวิตของผมก็ควรเป็นเช่นนั้น ความเติบโตของปณิธานความคิดอ่านก็ควรเติบโตตามอายุงานการใช้ชีวิต แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างจากการเขียนหนังสือ กว่าที่ผมจะอายุยี่สิบปีไม่ทราบว่าผ่านการเขียนตัวหนังสือมากี่แสนกี่ล้านตัว ถึงกระนั้นผมยังคัดลายมือสวยสู้เด็กประถมหลายคนไม่ได้ทั้งๆที่ผมผ่านการเขียนมามากกว่าเด็กเหล่านั้นไม่รู้กี่เท่า ทำให้ผมได้รู้จักเส้นแบ่งระว่างความชำนาญกับความเคยชินที่ผมนิยามขึ้นเอง
ความชำนาญ เกิดจาก ระยะทางที่สะสมจากการก้าวเดินไปข้างหน้า
ความเคยชิน เกิดจาก ระยะเวลาที่เราหยุดยืนอยู่ตรงนั้น
ในความคิดของผม ไม่สำคัญว่าเราทำสิ่งที่รักมานานเพียงใด แต่สำคัญที่ว่าเรามีจิตคิดก้าวไปข้างหน้าสม่ำเสมอแค่ไหน รู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์รายทางเพื่อนำไปพัฒนาตัวเองต่อหรือไม่ ถ้าทำได้คงไม่มีคำว่า “งานประจำที่แสนเบื่อหน่าย” ในพจนานุกรมชีวิต ท้ายนี้ผมอยากงฝากถึงทุกท่านและตัวผมเองว่า
มองจุดหมายแล้วอย่าลืมก้มมองเท้าตัวเอง ...เรายังก้าวไปข้างหน้าอยู่หรือเปล่า...