ครั้งหนึ่งตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ผมเคยคิดว่าจะลองตัดผมทรงนี้ดูสักครั้งในชีวิต และก็แอบคิดอยู่ลึกๆเรื่อยมาจนปัจจุบันตอนนี้จะขึ้นชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว อยู่ในช่วงปิดเทอมกำลังจะเปิดเทอม ช่วงนี้เองที่ผมเริ่มตระหนักแล้วว่าถ้าไม่ตัดทรงนี้ในช่วงนี้ วันหน้าจะไม่มีโอกาสได้ตัดอีกแล้ว เพราะถ้าเปิดเทอมแล้วตัดทรงนี้เข้าคณะก็จะถือเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ ปิดเทอมปีหน้าต้องฝึกงานเป็นส่วนใหญ่ไม่รู้จะมีเวลาได้ตัดหรือเปล่า จบออกไปทำงานเป็นเภสัชกร ขืนตัดทรงนี้คนไข้ก็จะกลัวเอาเปล่าๆ ถึงจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ไม่ตัดก็ไม่เห็นเป็นไร แต่ลึกๆในใจมันท้าทายตัวผมอยู่ตลอดเวลา "มึงกล้าตัดหรือเปล่าไอ้วิน ถ้าไม่ตัดตอนนี้ก็จะไม่ได้ตัดอีกแล้วนะเว้ย" ความจริงผมจะเมินเฉยทำเป็นไม่สนใจก็ได้ แต่ในที่สุดผมก็ตัดสินใจลองตัดผมทรงนี้ดูในที่สุด
พอตัดเสร็จมีเด็กวัยรุ่นสองคนต่อคิวตัดต่อจากผม มันสองคนหัวเราะกันใหญ่ แต่ไอ้คนหนึ่งก็รีบเตือนเพื่อนว่า "เดี๋ยวโดนตีนะเว้ย" ผมหันไปมองหน้าเป็นเชิงจะบอกว่า "ไม่เป็นไร ตูไม่คิดมาก" แต่พอมองหน้าปุ๊บมันก็หุบยิ้มรีบหันไปทางอื่น ก็ไปออกกำลังกายที่สนามกีฬาเทศบาลต่อ รู้สึกว่ามีคนมองตั้งแต่เข้าสนามยันออกจากสนาม ระหว่างกลับก็เตรียมใจอยู่แล้วว่าพ่อกับแม่ต้องรับไม่ได้ แล้วก็จริงดังคาด ได้รับคำด่าว่าจากพ่อและแม่มาคนละชุด พ่อด่าประมาณว่าผมชักจะเพี้ยนแล้ว คราวหน้าต้องควบคุมความประพฤติให้มากๆ ส่วนแม่จะด่าแบบเจ็บ " ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองใช่มั้ย ถึงต้องไปตัดผมให้คนอื่นเขาสนใจมอง" เข้าบ้านได้แป๊บเดียวพ่อก็ไล่ไปตัดทิ้งเสียแล้ว ผมต่อรองกับพ่อว่าจะตัดพรุ่งนี้เพราะจะถ่ายรูปเก็บเอาไว้ก่อน เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยตัดผมทรงนี้มาแล้ว
ถึงจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆไม่ถึงหนึ่งวันเต็ม แต่ผมกลับรู้สึกได้เรียนรู้อะไรจากผมทรงนี้ เมื่อเปลี่ยนทรงผมก็รู้สึกว่าความคิดที่เรามีต่อตัวเราและโลกใบนี้มันเปลี่ยนไป ได้สัมผัสอารมณ์แบบเป็นตัวของตัวเองไม่ต้องแคร์สังคม และก็มีอิทธิพลต่อความคิดของคนอื่นเป็นอย่างมาก ผมรู้สึกได้ว่าหลายคนตัดสินผมไปแล้วตั้งแต่แรกเห็น เรียกว่าการเหมารวม(sterotype) ไอ้นี้ตัดผมทรงนี้มาแสดงว่ามันเปรี้ยวแน่ อย่างไอ้น้องสองคนที่หัวเราะ มันก็คิดว่าถ้าหัวเราะเกินงามจะโดนผมตีเอา ซึ่งตัวผมจริงๆไม่ทำแบบนั้นแน่นอนเพราะไม่ใช่ตัวตนของผม และหลายคนก็มองผมแต่ไม่กล้ามองแบบตรงๆ สายตาเหล่ามองผมด้วยแววตาที่สะท้อนความรู้สึกที่ต่างจากตอนที่ผมตัดทรงธรรมดา ความคิดที่ผมมีต่อตนเองกับความคิดที่คนอื่นมีต่อผมมีความสัมพันธ์กันอย่างน่าประหลาด เมื่อไปไหนมาไหนแล้วมีแต่คนมองด้วยสายตาแปลกๆ ผมก็ปรับตัวตามโดยเปลี่ยนความคิดตนเองให้ไม่แคร์สายตาคนรอบข้างเท่าไหร่ ถึงจะเป็นแค่เรื่องทรงผมซึ่งเป็นแค่ขนบนหัวที่รูปทรงเปลี่ยนไป แต่การจะตัดผมทรงหนึ่งคุณก็ต้องแลกด้วย "อัตลักษณ์" บางอย่าง อย่างเช่นการตัดผมทรงโมฮอค ผมอาจจะได้เป็นเป้าความสนใจ อาจจะรู้สึกสะใจ เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น กล้าทำอะไรห่ามๆมากขึ้น แต่จะให้คนอื่นมาให้เกียรติผม มองว่าผมเป็นคนดี อยากคุยด้วยนั้น ถือว่ายาก
ไม่รู้ว่ากลไกลอะไรของสังคมที่เป็นตัวกำหนดว่า ผมทรงนี้ แต่งตัวแบบนี้ต้องเป็นพวกเด็กมีปัญหานะ อาจจะมาจากสื่อโทรทัศน์ที่เราเคยเห็นแบบอย่างจากภาพยนต์ เห็นจากข่าวตอนเด็กแว๊นถูกจับ หรืออาจจะเป็นสัญชาตญาณของคนเราที่ถูกกระตุ้นด้วยสีสันและรูปร่างที่ไม่ราบเรียบสม่ำเสมอเหมือน ผมรองทรง หรือ การใส่สูท ทั้งๆที่คนที่สักเต็มตัวหลายคนก็มีอัธยาศัยดีกว่าคนใส่สูท ผมก็ลองคิดดูขำๆว่าถ้าบังเอิญในสมัยหนึ่งมีหมอที่รักษาคนไข้เก่งมากจนชื่อเสียงโด่งดัง โดยที่ลักษณะเด่นของหมอคนนี้คือผมทรงโมฮอค ไม่แน่ว่าหลังจากนี้ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพอาจจะตัดทรงโมฮอคกันหมดก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ผมทรงโมฮอคก็อาจจะกลายเป็นทรงผมที่ดูสุภาพ ในอีกมุมหนึ่งพวกที่อยากเป็นของตัวเอง อยากฉีกจากกรอบเดิมๆให้ไม่เหมือนใคร ก็อาจจะหันไปตัดผมรองทรงกันก็ได้ แล้วพอมีใครตัดรองทรงมา ก็อาจจะถูกเหมารวมเอาได้ว่า "ไอ้นี่มันเปรี้ยวนี่หว่า"
แต่สุดท้ายจริงๆมันก็แค่ รูปร่างของขนบนหัว เป็นแค่ด่านแรกของการตัดสินว่าคนๆหนึ่งเป็นอย่างไร แค่นั้นแหละครับ
คนรีบร้อน เวลาน้อย ต้องรีบเร่งตัดสินคนที่เปลือกนอก
ตอบลบแต่เค้าอยากตัดมั่งก็ได้
หัวเขียววว